เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [42. ภัททาลิวรรค] 3. ติณสูลกฉาทนิยเถราปทาน
[87] พระสัพพัญญู พระองค์ทรงยังโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก
ให้สว่างด้วยพระญาณของพระองค์
เขาเหล่านั้นทำให้พระองค์ทรงพอพระทัยจึงพ้นจากชาติได้
[88] เพราะไม่ได้เฝ้าพระสัพพัญญูพุทธเจ้าผู้เห็นธรรมทั้งปวง
สัตว์ทั้งหลายจึงถูกราคะและโทสะครอบงำ
แล้วพากันตกไปในนรกอเวจี
[89] เพราะอาศัยการได้เข้าเฝ้าพระองค์
ผู้สัพพัญญู ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
สัตว์ทั้งปวงจึงหลุดพ้นจากภพแล้วบรรลุอมตบท
[90] เมื่อใด พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้มีพระจักษุ
มีพระรัศมี เสด็จอุบัติขึ้น
เมื่อนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นจะทรงแผ่พระรัศมีมีแสงสว่าง
แผดเผากิเลส(ของเหล่าสัตว์) ให้สิ้นไป
[91] ข้าพเจ้าได้สดุดีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของสัตว์โลกแล้ว มีจิตร่าเริง
บันเทิงใจ ได้บูชาพระองค์ด้วยดอกมะลิซ้อน
[92] พระพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ ผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้า
ประทับนั่งบนอาสนะของพระองค์แล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[93] เราจักพยากรณ์ผู้ที่เลื่อมใส ถือดอกไม้กั้น(แดด)ให้เรา
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[94] ผู้นั้นจักครองเทวสมบัติในเทวโลกตลอด 25 ชาติ
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 75 ชาติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :14 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [42. ภัททาลิวรรค] 3. ติณสูลกฉาทนิยเถราปทาน
[95] จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
นี้เป็นผลแห่งการกระทำการบูชาด้วยดอกไม้
[96] ก็คนที่ใช้ดอกไม้กั้น(แดด)ให้เราตั้งแต่เช้าจดเย็น
จักเป็นผู้ประกอบด้วยกรรมดีปรากฏต่อไปในภายภาคหน้า
[97] เขาปรารถนาสิ่งใด ๆ
สิ่งนั้น ๆ จักปรากฏตามความประสงค์
เขาทำความดำริชอบให้บริบูรณ์
จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
ภาณวารที่ 18 จบ

[98] ข้าพเจ้านั่งบนอาสนะเดียว มีสติสัมปชัญญะ
เผากิเลสทั้งหลายแล้ว ได้บรรลุพระอรหัต
[99] ไม่ว่าข้าพเจ้าจะเดิน ยืน นั่ง นอนอยู่ก็ตาม
ย่อมระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดอยู่ทุกขณะ
[100] ความพร่องในปัจจัยนั้น ๆ
คือจีวร บิณฑบาต คิลานปัจจยเภสัชบริขาร ที่นอน ที่นั่ง
มิได้มีแก่ข้าพเจ้า
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[101] บัดนี้ ข้าพเจ้าบรรลุอมตบทที่สงบระงับอย่างยอดเยี่ยม
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[102] ในกัปที่ 92 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้บูชาพระพุทธเจ้าไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :15 }